English
Thai
Home Product Service Order Article News Rewards
Home Product Service Order Article News Rewards
About The Refresher Thai Join Us Contact Us
ชาคืออะไร? Ceylon Black Tea

ชา เป็นผลผลิตทางเกษตรกรรมจากใบ ยอดอ่อน และก้าน ของต้นชา (Camellia sinensis) นำมาผ่านกรรมวิธีแปรรูปหลายหลาย "ชา" ยังหมายรวมถึงเครื่องดื่มกลิ่นหอม ที่ทำจากพืชตากแห้งชนิดต่างๆ นำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อน นอกจากนี้ ชา ยังเป็นเครื่องดื่มที่มีการบริโภคมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำเปล่า ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคของคนทั่วโลกเช่นเดียวกับ กาแฟ และโกโก้ โดยจีนเป็นประเทศแรก ที่เริ่มนำชามาทำเป็นเครื่องดื่มเมื่อกว่า 2,000 ปี ที่แล้ว จากนั้นความนิยมในการดื่มน้ำชา ก็ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย และในบางประเทศของทวีปแอฟริกา


tea

ชา มาจากพืชตระกูลคาเมลเลีย (Camelliea) มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Camelliea sinensis ถิ่นกำเนิด อยู่ในอินเดียและจีน มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม ใบแหลมสีเขียว ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม เมื่อปล่อยให้โตตามธรรมชาติสามารถสูงได้ถึง 20 เมตร แต่ในการทำไร่ชามักจะเลี้ยงไว้ที่ความสูง 3-5 เมตร และตัดแต่งกิ่งให้ส่วนบนเป็นพื้นราบ เพื่อสะดวกในการ เก็บยอดชาที่จะผลิออกมาใหม่


tea
A Tea Bush

tea

ถึงแม้ว่า ประเทศในเขตร้อน ใกล้เส้นศูนย์สูตรจะเป็นประเทศที่ปลูกชาได้ดี เนื่องจากสภาพอากาศที่เหมาะสม แต่ปริมาณน้ำฝนและสภาพดินยังเป็นปัจจัยหลักๆ ที่ส่งเสริมการเพาะปลูกและการเติบโตของต้นชา และยังมีผลต่อรสชาติชาอีกด้วย ชาที่มีคุณภาพดีส่วนใหญ่จะต้องปลูกอยู่ที่ความสูงไม่เกิน 1,500 เมตร หรือ 5,000 ฟุต ซึ่งต้นชาจะมีการเติบโตช้าแต่ให้รสชาติที่ดี


ส่วนของต้นชาที่นำมาใช้ทำเครื่องดื่มจะอยู่ส่วนบนสุดของต้น 1-2 นิ้วของยอดชา ซึ่งเป็นตำแหน่งของการผลิใบอ่อน และการแตกหน่อ ซึ่งเป็นส่วนที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด ต้นชาจะผลิตยอดชาใหม่โดยใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน

สายพันธุ์ชา  
ชามี 2 สายพันธุ์หลัก ได้แก่
tea

ชาอัสสัม (Camellia sinensis vav. Assamica)

 

เป็นไม้ยืนต้นสูง 6-18 เมตร ใบใหญ่เป็นรูปรี กว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร ผิวใบเป็นคลื่นและเป็นมันลื่น ปลายใบเรียวแหลม ต้นชาชนิดนี้โตเร็วกว่าต้นชาจีน ด้วยมีใบขนาดใหญ่กว่าและมีรสชาติเข้มข้น

tea

ชาจีน (Camelli sinensis vav. Sinensis)

 

เป็นไม้พุ่มเตี้ย ใบของชาจีนมีขนาดเล็กและแคบกว่าใบของชาอัสสัม กว้าง 2-4 เซนติเมตร เนื้อใบด้าน ปลายใบแหลม ชาชนิดนี้ทนต่อความหนาวเย็นและเติบโตอย่างช้า ๆ ออกใบดกและมีกลิ่นหอมมาก

ในปัจจุบันอาจมีการนำชา 2 สายพันธุ์มาผสมกัน ออกมาให้ได้ชาพันธุ์ใหม่เรียกว่า Hybrid

องค์ประกอบทางเคมีของชา
ชามีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ เมทิลแซนทีน (Methylxanthines) แทนนิน (Tea /tannins) และส่วนที่ให้กลิ่นหอม (Aromatic Principles) ใบชาสดประกอบด้วย เซลลูโลส ไฟเบอร์และโปรตีน ซึ่งมีปริมาณของแข็งรวมกันได้ 25 % โดยปริมาตรและมีสารที่ละลายน้ำได้ อันได้แก่ แทนนิน คาเฟอีน โปรตีน กัม (Gummy Matter) และน้ำตาลต่างๆ ละลายอยู่
ประเภทของชา  

ระเภทของชาที่เราพบมากในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 4 ชนิด คือ ชาดำ (Black Tea), ชาอูหลง (Oolong Tea), ชาเขียว (Green Tea), และชาขาว (White Tea) ซึ่งแท้ที่จริงแล้วชาทุกประเภทที่กล่าวมาข้างต้น อาจมาจากต้นชาต้นเดียวกัน แต่ผ่านกระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน ทำให้ได้ชาที่ต่างกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากชาจีนทั้งสิ้น

ชาผู่เอ๋อ (Pu-erh Tea) เป็นชาดำชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้วิธีการหมักนานเป็น 2 เท่าของชาดำ ทำให้ได้รสชาติที่เข้มข้นและแตกต่าง

คำว่า "ชาสมุนไพร" (Herbal Tea) นั้น หมายถึง น้ำที่ชงจากสมุนไพร ใบไม้ ดอกไม้ หรือผลไม้ ของพืชสมุนไพรชนิดอื่น ที่ไม่ใช่จากต้นชา ส่วนคำว่า "ชาแดง" นั้น หมายถึง น้ำที่ชงจากชาดำ (ใช้เรียกกันในเอเชียตะวันออก เช่น จีน เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น) และน้ำที่ชงจากต้นรอยบอส (Rooibos) ของประเทศแอฟริกาใต้

ชา ถูกจัดประเภทตามกระบวนการแปรรูป หลังจากการเก็บเกี่ยว ใบของต้นชาจะถูกทิ้งให้สลด และ "บ่ม" โดย ทำให้เอนไซม์ในใบชาเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับออกซิเจนในอากาศ ใบชาจะมีสีเข้มขึ้น คลอโรฟิลล์ในใบชาจะแตกตัว กลายเป็นสารแทนนินที่ให้รสฝาด ต่อจากนั้น ต้องหยุดการทำงานของเอนไซม์ โดยใช้ความร้อน เพื่อให้หยุดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น โดยในชาดำ กระบวนการนี้จะดำเนินคู่กันไปกับการทำให้แห้ง

หากไม่ระมัดระวังในการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิระหว่างกระบวนการผลิต ใบชาอาจขึ้นรา เกิดปฏิกิริยาสร้างสารพิษที่อาจเป็นสารก่อมะเร็งขึ้นได้ ทำให้รสชาติเสียไป และอันตรายต่อการบริโภค

ชา สามารถจัดประเภทตามกระบวนการแปรรูปต่างๆ ได้ดังนี้
• ชาขาว: ใบชาที่ถูกทิ้งให้สลด แต่ไม่ได้บ่ม
• ชาเหลือง: ใบชาที่ไม่ได้ถูกทิ้งให้สลด และไม่ได้บ่ม แต่ทิ้งใบชาให้เป็นสีเหลือง
• ชาเขียว: ใบชาที่ไม่ได้ถูกทิ้งให้สลดและไม่ได้บ่ม
• ชาอูหลง: ใบชาที่ทิ้งให้สลด นวด และบ่มเล็กน้อย (เป็นชาดำชนิดหนึ่ง)
• ชาดำ: ใบชาที่ทิ้งให้สลด (อาจมีการนวดอย่างแรง) และผ่านการบ่มเต็มกระบวนการ
• ชาหมัก: ชาเขียวที่ผ่านกระบวนการหมักนานนับปี


tea

ชาดำ (ชาหมัก) - Black Tea

เป็นชาที่นิยมดื่มกันทั่วโลก โดยเฉพาะแถบยุโรปหรือพวกฝรั่ง คนไทยจึงเรียกว่าชาฝรั่ง บางคนเรียกชาผง เพราะส่วนใหญ่จะเห็นมีลักษณะเป็นผง บางครั้งเรียกชาดำตามลักษณะสีใบชาแห้ง แต่ชาวจีนเรียกชาแดง ตามลักษณะสีน้ำชาซึ่งเป็นสีส้มหรือน้ำตาลแดง

black tea ชาฝรั่งสันนิษฐานว่ามาจากชาหมักชื่อ เจียน ซี หวู ของชนเผ่าฉี อาศัยอยู่แถบภูเขา หวู่ ยิ เมื่อมีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับพ่อค้าจากมณฑลกวางตุ้ง ชาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นโบเฮีย และถูกส่งจากมณฑลกวางตุ้งไปประเทศอังกฤษในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 การผลิตชาฝรั่งจะให้สีและรสชาติเข้มข้นที่สุด น้ำชาเป็นสีส้มหรือน้ำตาลแดง ชาฝรั่งจะนิยมใช้ยอดชาพันธุ์อัสสัม เพราะชาอัสสัมจะมีสารโพลีพินอลสูง ชาประเภทนี้ ได้แก่ ชาคีมุนของจีน ชาของอินเดีย และชาของศรีลังกา

tea

ชาเขียว – Green Tea

ชาเขียวเป็นชาที่ไม่ผ่านขั้นตอนการหมักใบชาสดระหว่างกระบวนการผลิต โดยนำยอดชาสดมาทำให้แห้ง ใช้วิธีให้ความร้อนหยุดยั้งการสลายตัวของยอดชา หรือปฏิกิริยาของเอ็นไซม์ ในการย่อยสลายตัวเอง หรือเรียกว่าการหมัก


green tea

ชาประเภทนี้เป็นชาที่นิยมดื่มกันมากในประเทศจีนและญี่ปุ่น รสอ่อน สีน้ำชาเป็นสีเขียว หรือเหลืองอมเขียว กากชามีสีเขียวค่อนข้างสดชาเขียวรู้จักกันแพร่หลาย เช่น ชาหลงจิ่ง หวง ซันเหมา ฟง ผู โถ ฉา ชุนหมี่ ชาญี่ปุ่น เป็นต้น


tea

ชาอู่หลง (ชากึ่งหมัก) – Oolong Tea

เป็นชาที่มีการหมักใบชาสดในระหว่างการผลิตเพียงบางส่วน โดยเพิ่มการนำยอดชามาผึ่งแดด 20-40 นาที ทำให้อุณหภูมิในยอดชาสูงขึ้น เกิดกลิ่นหอม แล้วนำไปผึ่งในร่มอีกครั้งพร้อมเขย่ากระตุ้นยอดชาให้ตื่นตัว เร่งการหมัก ทำให้สีน้ำมีสีเข้มขึ้น ความแก่อ่อนของการหมักขึ้นกับระยะเวลาการผึ่งและเขย่ากระตุ้น ชนิดชาที่รู้จักกันดีที่สุดคือ ชาอู่หลง รสชาติของชาประเภทนี้จะเข้มข้นและมีกลิ่นหอม น้ำชามีสีเหลืองอมเขียว น้ำตาลอมเขียว น้ำตาลอมเหลือง น้ำตาลส้ม ขึ้นอยู่กับวิธีการผลิต กากชาที่มีสีเขียวอมเหลืองนิยมดื่มกันมากในประเทศจีนตอนกลาง แถบมณฑลฝูเจี๋ยน กวางตุ้ง ไต้หวัน เมื่อดื่มชาชนิดนี้จะให้รสฝาด และขมเล็กน้อย ชุ่มคอ


Oolong Tea

ชากึ่งหมัก เป็นชาประเภทที่ผู้ดื่มชาจีนในประเทศไทยส่วนใหญ่รู้จักดี ชาที่ดื่มจะเป็นชาหมักปานกลาง ค่อนข้างแก่ถึงหมักแก่ ชามีกลิ่นหอม รสฝาดชุ่มคอ ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศจีนแถบมณฑลกวางตุ้ง มณฑลฝูเจี๋ยน ต่อมามีการผลิตชาอูหลงแถบดอยแม่สลอง ดอยวาวี โดยนำเทคโนโลยีการผลิตจากไต้หวัน จึงได้ชาอูหลงที่มีคุณภาพดี กลิ่นหอม รสชาติชุ่มคอ ทำให้ชาอูหลงเป็นที่รู้จักและนิยมดื่มมากขึ้น


tea

ชาขาว – White Tea

ยอดชาที่ยังปกคลุมด้วยปุยขนอ่อนสีขาวผ่านขั้นตอนการนำไปตากแห้งในแสงอาทิตย์ธรรมชาติ ขั้นตอนง่ายๆ ดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ White Tea แตกต่างจากชาประเภทอื่น และยังเป็นการรักษาคุณประโยชน์นานาประการมิให้สลายไปกับกรรมวิธีของมนุษย์ แหล่งผลิตปลูกกันกว้างขวางในประเทศจีน บนภูเขาสูงแห่งจังหวัดฟูเจี้ยน

  เนื่องจากการผลิตชาขาวมีขั้นตอนที่สั้นที่สุด ทำให้ชามีความบริสุทธิ์กว่าและอยู่ในสภาวะมีพลังงานมากกว่า ชาวขาวมีคุณค่าของแอนติออกซิเดนท์มากกว่าชาเขียวถึงสามเท่า และยังป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกายมากกว่าชาเขียวถึงสิบเท่า และความสามารถในการปกป้องผิวก็ยิ่งสูงกว่าด้วยเช่นกัน
White Tea
 

ชาในรูปแบบต่างๆ

และจากชาพื้นฐานเหล่านี้ก็ได้มีการผสมผสานใบชาจากแหล่งต่างๆ พัฒนาเป็นชาผสมที่มีกลิ่นและรสชาติต่างๆ กัน และมีชื่อเรียกเฉพาะต่างๆ เช่น “Darjeeling” เป็นชารสเยี่ยมจากเทือกเขาหิมาลัย ทางตอนเหนือของอินเดีย ให้รสนุ่มและกลิ่นหอม สามารถเติมนมเพิ่มได้ตามชอบ, “Earl Grey” เป็นชาที่ผสมกันระหว่างชา Darjeeling กับชาจีน แต่งกลิ่นด้วยสมุนไพรเบอร์กามอต (Bergamot), “English Breakfast” เป็นการผสมผสานกันของใบชาจาก 3 แหล่ง คือชาซีลอน (Ceylon) จากศรีลังกาที่ให้กลิ่นหอม ชาอัสสัม (Assam) จากอินเดียที่ให้รสเข้ม และชาเคนยา (Kenya) จากประเทศเคนยา ซึ่งช่วยเพิ่มสีสันของชา นับเป็นชาที่ได้รับความนิยมมากในอังกฤษ ถึงขนาดตั้งชื่อเฉพาะให้อย่างเป็นทางการ

อกจากนี้ยังมีการแต่งกลิ่นชา ไม่ว่าจะเป็น ชาเขียว ชาอูหลง หรือชาดำ โดยผสมใบชากับดอกไม้ ผลไม้ เครื่องเทศ น้ำมันหอมระเหยต่างๆ หรือสมุนไพร เช่น ชิ้นมะม่วง พีช กลีบกุหลาบ ลงไปในใบชาก่อนบรรจุ ทำให้เกิดชารสชาติใหม่ ที่เรียกว่า “Flavored Tea” หรือชาแต่งกลิ่น

ส่วนชาเมี่ยงหรือชาหมักดอง เป็นผลิตภัณฑ์ชาของท้องถิ่นทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยการนำใบชาสด มามัดเป็นกำ นึ่งแล้วมักทิ้งไว้จนใบชาเปลี่ยนสภาพเป็นสีเหลือง ใบยุ่ย จึงนำมาบริโภค นิยมใช้เป็นของขบเคี้ยว หรืออมเป็นของว่างระหว่างการทำงาน ยามว่างหลังอาหารหรือชงดื่มกับน้ำร้อน ช่วยผ่อนคลาย ความเหน็ดเหนื่อย ปัจจุบันมีอยู่หลายชนิด เช่น เมี่ยงหวาน เมี่ยงเค็ม เมี่ยงหมี่ เมี่ยงขิง เมี่ยงใส่กระเทียมดอง เป็นต้น

รูปแบบการบรรจุใบชาที่ขายในท้องตลาดมีดังนี้
ใบชาผงในภาชนะปิดสนิท (Loose Tea)
เป็นใบชาแห้งที่บรรจุในกระป๋องหรือภาชนะปิดสนิท ซึ่งผู้ชงสามารถตวงปริมาณใบชาแห้งเองได้ตามต้องการ ในการชงจะต้องมีอุปกรณ์ช่วยในการกรองกากชาออกด้วย

ใบชาแห้งอัด (Compressed Tea)

เป็นใบชาแห้งที่อัดแน่นเพื่อสะดวกในการเก็บรักษา โดยเฉพาะชาชนิดผู่เอ๋อ (Pu-Erh) จะถูกอัดเป็นก้อน เวลาจะนำใบชามาชงให้ใช้ปลายมีดเขี่ยใบชาออกมาในปริมาณที่ต้องการ ใบชาแห้งอัดนี้สามารถเก็บไว้ได้นานกว่าใบชาแห้งธรรมดา เนื่องจากมีส่วนที่สามารถสัมผัสกับอากาศน้อยกว่า

ชาแท่งหรือชาแผ่น (Tea Sticks)

เป็นการบรรจุใบชาสำหรับการบริโภคในรูปแบบใหม่ แท่งชานี้กำเนิดในประเทศฮอลแลนด์ช่วงปี ค.ศ. 1990 โดยบริษัท Venezia Trading ได้ผลิตแท่งชาที่เรียกว่า “Ticolino” ซึ่งเป็นแท่งบรรจุชาสำหรับ 1 ที่ ภายในบรรจุใบชาหรือใบชาผสมสมุนไพรหรือกลิ่นรสตามต้องการ วิธีใช้คือใส่แท่งชาลงในแก้ว เทน้ำร้อนลงไป แช่ไว้นาน 90 วินาทีเพื่อสกัดกลิ่นรสของใบชาที่อยู่ภายในออกมา จากนั้นก็คนเล็กน้อย แล้วดึงแท่งชาออก

ชาสำเร็จรูป (Instant Tea)

เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นผงหรือเกล็ดละลายน้ำ โดยการทำการสกัดสารในใบชาออกมาเป็นชาเข้มข้น น้ำชาเข้มข้นถูกทำให้แห้งเป็นของแข็ง โดยการฉีดพ่นสารละลายชาเข้มข้นผ่านอากาศร้อน หรือความเย็น ระเหยน้ำออกไปภายใต้สุญญากาศ เมื่อจะดื่มนำมาชงสามารถละลายน้ำได้ทันที สะดวกต่อการบริโภค การผลิตชาสำเร็จรูปสามารถใช้เครื่องจักรกลในการเก็บเกี่ยวมากขึ้น สามารถขนส่งไปยังประเทศผู้บริโภค ได้สะดวก ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง เช่น ชาผงสำเร็จรูปเนสที เป็นต้น

ชาถุง (Tea Bags)

เป็นใบชาที่บรรจุถุงกระดาษหรือถุงผ้าไหมขนาดเล็ก ข้อดีของชาถุงคือ ง่ายและสะดวกต่อการชง แต่มีข้อด้อยคือ อากาศสามารถผ่านเข้าออกได้ ใบชาแห้งซึ่งสัมผัสกับอากาศจะสูญเสียกลิ่นรสได้ง่ายและรวดเร็ว นอกจากนี้ใบชาที่นำมาบรรจุด้วยวิธีการนี้ส่วนใหญ่จะเป็นชาเกรดต่ำลงมา อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตบางรายก็สร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ชาถุงด้วยการบรรจุใบชาเต็มใบชั้นดีลงในถุงชา ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถสังเกตได้จากราคาที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมา

ชาพร้อมดื่ม (Ready-to-Drink Teas)

เป็นการผลิตน้ำชาบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำชาธรรมดา น้ำชาที่เติมกลิ่นและสี เช่น กลิ่นรสมะนาว รสเบอรี่ พีช เป็นต้น บางครั้งเติมน้ำตาลบรรจุในกระป๋องหรือขวด ทำให้สะดวกต่อการบริโภคและการขาย น้ำชาประเภทนี้เป็นที่นิยมของวัยรุ่น โดยเฉพาะประเทศที่มีอากาศร้อน และนิยมดื่มชาเย็น

เกรดของใบชา  
tea การแบ่งเกรดของใบชาจีน

ชาจีนจะแบ่งเกรดและคุณภาพ ดังนี้
• ชนิดของพันธุ์ชา
• อายุของต้นชา
• ลักษณะของใบชา
• ฤดูที่เด็ดใบ
• วันและเวลาที่เด็ด
• ลักษณะของอากาศในวันเวลาที่เด็ด
• แหล่งที่มา
• กรรมวิธีในการผลิต
เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดพิจารณาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญก็จะให้เกรดกับปริมาณของผลผลิตของใบชาในปีนั้น

tea การแบ่งเกรดใบชาของยุโรป

ใบชาเป็นสินค้าที่ผลิตจากหลายประเทศ มีกรรมวิธีในการผลิตต่างกัน ดังนั้นในการควบคุมคุณภาพจึงความจำเป็นที่ต้องมีการแบ่งเกรด และการแบ่งเกรดของใบชาจึงขึ้นอยู่กับคุณภาพของใบชาที่ผลิตออกมาจากโรงงาน

เกรดของใบชา

การแบ่งเกรด แบ่งเป็น 3 เกรด ดังนี้
1. ชาเต็มใบ (Whole Leaf)
  โดยทั่วไปชาเต็มใบถือว่าเป็นชาเกรดดี แบ่งได้ 4 เกรดย่อย ตามขนาดของใบซึ่งขึ้นอยู่กับแหล่งที่ปลูกใบชานั้นๆ คือ
 
1.1 ใบตูม หรือ ใบอ่อน - ชาที่ได้รับคัดเลือกในเกรดนี้ ถือว่าเป็นชาที่ดีที่สุด ขนาดของใบจะมีขนาดไม่เกิน 5-15 มิลลิเมตร อักษรย่อของชาเกรดนี้ คือ F.P. หรือ F.O.P. (Flowery Pekoe หรือ Flowery Orange Pekoe)
1.2 ใบชาคู่แรก - เป็นเกรอรองลงมา ขนาดของใบใหญ่ขึ้นมาหน่อยมีขนาดประมาณ 8-15 มิลลิเมตร ชาเกรดนี้มีชื่อว่า "Orange Pekoe" มีตัวย่อว่า O.P. เวลาชงน้ำชาจะมีสีส้ม
1.3 Pekoe - มีตัวย่อว่า "P" ชาเกรดนี้ ใบจะมีลักษณะหนาและบิดเกลียว
1.4 Pekoe Slouching - มีตัวย่อว่า P.S. มีลักษณะใบใหญ่ ค่อนข้างเหนียวและหยาบ เวลาผลิตเครื่องจักรจะปั้นใบชาเป็นก้อนกลม ๆ เวลาชงก้อนชานี้จะขยายตัวออกให้เห็นลักษณะใบอย่างชัดเจน
   
2. เกรดใบชาร่วง (Broken Tea Leaf)
  เป็นใบชาเกรดรองลงมา ซึ่งลักษณะใบชาจะมีการแตกหักบางส่วน ไม่เต็มใบ หรือไม่เต็มรูปสมบูรณ์ สามารถแบ่งออกได้เป็น
 
2.1 Broken Pekoe – หรือตัวย่อว่า BP จะเป็นใบชาที่ไม่เต็มใบ แตกหักบางส่วน ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาใบชาประเภทไม่เต็มใบด้วยกัน
2.2 Broken Orange Pekoe – หรือตัวย่อว่า BOP จะเป็นใบชาแตกหักที่มีขนาดเล็กกว่า BP
 
3. เกรดใบชาผง (Fine Leaf Teas)
  เป็นชาที่เหลือจากการคัดเกรด โดยการนำเศษที่เหลือมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใช้บรรจุเป็นชาถุงหรือขายเป็นชาที่มีราคารองลงมา แบ่งได้เป็น
 
3.1 Fannings – เศษของใบชาที่แตกหักละเอียดกว่า BOP
3.2 Dust – เป็นผงชาที่ถูกแยกออกมา โดยส่วนใหญ่จะนำไปใช้ทำชาถุง หรือผสมทำชาสำเร็จรูป
คุณสมบัติของชาผงทั้งสองเกรดนี้ คือ เวลาชงด้วยน้ำร้อนจะขับสีออกเร็วมาก จึงเป็นที่นิยมของผู้ดื่มชา ชาทั้งสองเกรดมีจำหน่ายในรูปของชากระป๋องและชาซอง กลิ่น สี และรสชาติขึ้นอยู่กับผู้ผลิต ราคา ก็เหมาะสมสำหรับคนทั่วไป
 
การเก็บรักษาใบชา  
ใบชาจะต้องเก็บรักษาเป็นอย่างดี เพื่อจะคงไว้ซึ่งกลิ่น สีและรสชาติ ภาชนะที่จะใช้บรรจ ุใบชาจะต้องแห้งและปราศจากกลิ่น อากาศเข้าไม่ได้ สิ่งสำคัญที่มีผลกระทบต่อคุณภาพใบชา คือ ความชื้น อุณหภูมิ และกลิ่น

วิธีเก็บใบชาที่ถูกต้องมีดังนี้
1. ใช้ภาชนะดินเผาหรือภาชนะโลหะขนาดพอเหมาะมีฝาสองชั้นเพื่อป้องกันไม่ให้อากาศเข้า
2. ไม่ควรให้ใบชาถูกอากาศโดยไม่จำเป็น เพราะอากาศมีผลกระทบต้อสารต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในใบชา
3. หลีกเลี่ยงความชื้น เพราะความชื้นจะเป็นตัวทำลายคุณภาพของใบชา ในกรณีที่ซื้อใบชามาในปริมาณที่มาก ควรแบ่งใบชาใส่ภาชนะที่เล็กพอเหมาะกับการใช้ในแต่ละสัปดาห์
4. เนื่องจากความชื้นในอากาศมีผลต่อใบชา ดังนั้นใบชาควรจะบรรจุอยู่ในถุงฟอยล์ มัดให้แน่นก่อนจะเก็บไว้ในกระป๋อง
5. หลีกเลี่ยงการนำใบชาออกตากแดดเพราะแสงแดดจะทำลายคุณภาพของใบชา
6. ไม่ควรนำภาชนะที่มีกลิ่นมาบรรจุใบชา หรือเก็บใบชาไว้ใกล้กับอาหารหรือสิ่งของที่มีกลิ่นเพราะใบชามีคุณสมบัติดูดกลิ่น
7. เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความชื้นและรักษาอุณหภูมิของใบชาให้คงที่ ควรเก็บใบชาไว้ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี
8. ถ้าเป็นชาดีมีคุณภาพและราคาแพงไม่ควรใช้มือหยิบแต่ควรใช้ช้อนที่แห้งสนิทตัก ปัจจุบันมีช้อนที่ทำขึ้นสำหรับตักใบชาโดยเฉพาะ
9. ใบชาแต่ละชนิด อุณหภูมิที่เก็บรักษาต่างกัน ชาเขียวโดยเฉพาะถ้าเป็นชาใหม่จะต้องเก็บในที่แห้งและอุณหภูมิต่ำ อาจจะเก็บใส่กระป๋องที่ปิดมิดชิด หรือไว้ในตู้เย็นก็ได้ ไม่ควรเก็บชาเขียวไว้ชงดื่มนานเกิน 12-18 เดือน ส่วนชาอูหลงหรือชาดำ สามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิปกติแต่ไม่ควรให้ถูกแสงแดด จะเก็บไว้ในตู้เย็นก็ได้แต่ไม่จำเป็น
เทคนิคการชงชา  
ชาใบและชาสำเร็จรูปมีวิธีชงที่แตกต่างกัน
วิธีชงชาใบหรือชาจีน มีขั้นตอนดังนี้
• อุ่นกาน้ำชาโดยให้น้ำร้อนลวกภาชนะเพื่อให้กาน้ำชาและถ้วยชาอุ่นขึ้น ช่วยฆ่าเชื่อโรคและดับกลิ่นต่างๆในภาชนะ
• ใส่ใบชาลงในปริมาณที่เหมาะไม่เกิน 1 ใน 3 ของกาน้ำชา
• เทน้ำร้อนลงในกาน้ำชาในเต็ม เพื่อกระตุ่นใบชาให้คลี่ออกและช่วยล้างใบชาให้สะอาด แล้วเทน้ำทิ้ง
• เทน้ำร้อนเดือดใหม่ๆ ลงในกาน้ำชาอีกครั้งทิ้งไว้ประมาณ 2 นาที
• เทน้ำชาลงในถ้วยเสิร์ฟให้หมด ยกเสิร์ฟ
• เมื่อต้องการดื่มชาเพิ่มให้เติมน้ำเดือดลงไปอีกครั้งทิ้งไว้ประมาณ 2-3 นาที แล้วจึงเทน้ำ ชาเสิร์ฟใหม่อีกครั้งใบชาที่ใช้ชงแต่ละครั้งใช้ได้ประมาณ 3-7 ครั้ง ในครั้งต่อๆไป หลังจากเติมน้ำร้อน เพิ่มแล้วควรทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที และนานไปเรื่อยๆเพื่อให้น้ำชาจืด



วิธีชงชาถุงมีขั้นตอนดังนี้
• การชงในกา ทำการอุ่นกาน้ำชาโดยเทน้ำร้อนลวกกาให้ร้อนวางถุงชาในกาตามจำนวนผู้บริโภคเติมน้ำเดือดใหม่ๆ ทิ้งไว้อย่างน้อย 3 นาที
• ชงในถ้วยโดยใส่ถุงชาลงในถ้วยเติมน้ำเดือดใหม่ๆ ทิ้งไว้ 3 นาที จึงเอาถุงชาออก แต่หากต้องการให้ชารสจัดขึ้น ก็ควรจะเพิ่มเวลาให้มากขึ้น
• ชาฝรั่งสามารถเพิ่มรสชาติได้โดยเติมน้ำตาล นมและมะนาวตามชอบและสามารถทำชาเย็นโดยชงชาด้วยน้ำร้อนให้เข้มข้นเป็น 2 เท่า แล้วจึงเติมรสชาติและน้ำแข็งตามชอบ

การเก็บรักษา
ใบชามีคุณสมบัติดูดซับกลิ่นได้ดี ควรเก็บในภาชนะที่มีมีกลิ่น แห้ง มีผาปิดสนิท

การเลือกซื้อใบชา  
ใบชาในท้องตลาดมีให้เลือกซื้อมากมาย เช่น มีทั้งใบชาแห้งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ใบชาแปรรูป เป็นต้น แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใบชาเราที่เราซื้อมาเป็นใบชาที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้น เราควรที่จะมีความรู้พื้นฐานในการเลือกซื้อใบชาง่ายๆ ดังนี้

1. ลักษณะใบ ใบชาจะคืนชีพเมื่อถูกน้ำร้อน เมื่อใบชาคืนสู่สภาพเดิม เราก็สามารถที่จะบอกเกรดของใบชาได้โดยสังเกตจากลักษณะใบว่าเป็นใบตูม ใบอ่อนใบนุ่ม ใบเล็ก ใบใหญ่ ใบเหนียว ใบแข็ง ใบสมบูรณ์ หรือขาดแหว่ง ตลอดจนสีว่าใบชามีสีอ่อนหรือสีเข้ม

2. ความสมบูรณ์ของยอดใบชา กากใบชาที่ชงมีความสมบูรณ์ของยอดใบชาให้เห็นหรือไม่ คือเมื่อเขี่ยดูแล้วจะเห็นยอดใบชาที่มียอดตูมและใบอีกสองใบติดอยู่กับก้าน ถ้ามี มีทั้งหมดหรือมีเป็นบางส่วน

3. มีสิ่งสกปรกเช่นก้านใบชา เศษใบชา หรือเศษผงมากน้อยแค่ไหน

Back to Article
 
Hot Line 087-516-0330
  • Olives
  • Feliz
  • Akbar
  • Schaerer
  • Crathco
  • Nuova
  • Rancilio
  • WestBend
  • Waring
  • Vitamix
  • Cofrimell
บริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ | แคเทอริ่ง | คอฟฟี่เบรค | น้ำชายามบ่าย | ค๊อกเทล | ออกร้าน | ปาร์ตี้ | เครื่องดื่ม | อาหารว่างในกล่อง (เซ๊ทอาหารว่าง)
Outside Catering Service   Catering   Coffee Break   High Tea   Cocktails   Grand Opening/Exhibition   Party   Beverage   Snack Box
COPYRIGHT © 2009 The Refresher Co., Ltd.